31 มีนาคม วันสำคัญของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า รัชการที่ 3

วันที่ 31 มีนาคม คือ วันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชการที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ผู้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในทุกด้านเพื่อทำนุบำรุงแก่ประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง คณะรัฐมนตรีจึงมีมติกำหนดให้วันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ” หรือ “วันเจษฎา” เพื่อให้คนไทยได้น้อมรำลึกและสำนึกในพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์  

ภาพจาก : https://th.wikipedia.org/

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ร.3 ประวัติโดยย่อมีดังนี้ 

สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า หรือ ร.3 เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ เจ้าจอมมารดาเรียม (ได้มีการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระศรีสุลาลัยในเวลาต่อมา) ได้พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ ที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2330 ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี และทรงสวรรคต เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2394 รวมพระชนมายุ 63 พรรษา 11 วัน เสด็จดำรงสิริสมราชสมบัติ 25 ปี 7 เดือน 23 วัน และได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อบำรุงบ้านเมืองและประเทศชาติให้รุ่งเรืองในทุกด้าน 

ผลงาน ร.3 อันมีเป็นอเนกประการ เราจะขอหยิบยกพระราชกรณียกิจที่เด่น ๆ ในแต่ละด้านของพระองค์ท่านว่ามีอะไรบ้าง 

ภาพจาก : https://th.wikipedia.org/

พระราชกรณียกิจ ร.3 ด้านการปกครอง 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงให้มีการสร้างป้อมปราการตามปากแม่น้ำสำคัญหัวเมืองชายทะเล เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึกศัตรูที่จะเข้ามาโจมตี ให้รวบรวมการปกครองที่กระจัดกระจายให้มาอยู่รวมกัน นอกจากนี้ยังให้มีการลงทะเบียนสำรวจจำนวนพลเมืองเพื่อคัดตัวในการเป็นกำลังรับใช้ชาติ ปราบปรามโจรผู้ร้ายและการค้าฝิ่น รวมไปถึงปราบจีนตั้วเหี่ยที่วางอำนาจและมีอิทธิพลในสมัยนั้น 

ภาพจาก : https://th.wikipedia.org/

พระราชกรณียกิจ ร.3 ด้านการค้ากับต่างประเทศ 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงได้มีการทำสัญญาพระราชไมตรีกับประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ด้วยสัญญาการค้าขายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันกับสองประเทศ ทำให้มีเรือกำปั่นจากทั้งสองประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายกับประเทศไทยมากขึ้นใน พ.ศ.2376

พระราชกรณียกิจ ร.3 ด้านเศรษฐกิจ  

รัชการที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งระบบการเก็บภาษี โดยเอกชนที่ได้รับการประมูลจะต้องไปเรียกเก็บภาษีจากราษฎรเอง ซึ่งผู้เรียกเก็บภาษี เรียกว่า เจ้าภาษีหรือนายอากร จากนั้นพระองค์จึงจะนำภาษีเหล่านั้นมาใช้ในการทำนุบำรุงบ้านเมือง ส่วนจำนวนเงินที่เหลือ เรียกว่า “เงินถุงแดง” จะถูกจัดเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น 

พระราชกรณียกิจ ร.3 ด้านวัฒนธรรมและวรรณคดี 

เนื่องจากประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้ดีในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงด้านวัฒนธรรมและวรรณคดีเช่นกัน ได้มีกวีนิพนธ์และวรรณคดีเกิดขึ้นมากมาย และพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เองด้วยเช่นกัน โดยเนื้อหาบทพระราชนิพนธ์ ร.3 มีทั้งส่วนที่เกี่ยวกับประวัติศาตร์บ้านเมือง วรรณคดี ศาสนา นิทาน และเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เช่น โครงปราบดาภิเษก เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน บทละครเรื่องสังข์ศิลป์ไชย โครงฤษีดัดตน ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก 11 กัณฑ์ สมุทรโฆษคำฉันท์ ลิลิตรพระบวนพยุหยาตราพระกฐิน นิทานแทรกในเรื่องนางนพมาศ เรื่องนางนกกระต้อยติวิด เป็นต้น  

พระราชกรณียกิจ ร.3 ด้านการศึกษา 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงให้ความสำคัญด้านการศึกษาของทุกชนชั้น ทรงโปรดให้ชนต่างชาติเข้ามาเผยแผ่ศาสนา ทำให้มีมิชชันนารีและบาทหลวงสามารถเข้ามาให้ความรู้และสอนด้านวิชาการต่าง ๆ ให้กับคนไทย และทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างโรงเรียนราษฎรแห่งแรกของไทย คือ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในปัจจุบัน ส่วนสตรีจะมีการเรียนการสอนภายในวัง และกลายเป็น มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย 

พระราชกรณียกิจ ร.3 ด้านศาสนา 

สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ร.3 พระราชกรณียกิจโดดเด่นด้านทำนุบำรุงพระศาสนาเป็นอย่างมาก เนื่องจากพระองค์ทรงเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาพุทธเป็นที่สุดได้ทรงสร้างพระพุทธรูปมากมาย บูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม 35 วัด โดยมีวัดโพธารามเป็นหนึ่งในนั้น และพระองค์ได้ทรงพระราชทานนามวัดว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ ก่อนจะมาเป็น พระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ในปัจจุบัน และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นใหม่ 3 วัด 

พระราชกรณียกิจ ร.3 ด้านประติมากรรม สถาปัตยกรรม และ จิตรกรรม 

ในรัชสมัย ร.3 ถือว่าเป็นยุคแห่งการสร้างและปฏิสังขรณวัดวาอาราม รวมถึงพระบรมมหาราชวัง ได้รับการบูรณะและก่อสร้างอย่างมากมาย โดยส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมจีนเข้ามา ทำให้มีการผสมผสานกลายเป็นประติมากรรมไทย-จีน ส่วนประติมากรรมที่โดดเด่นมาก ได้แก่ รูปปั้นยักษ์ยืนกระบองที่วัดพระแก้ว และ วัดอรุณฯ โดยมีการแกะสลักหินประดับไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น วัดพระแก้ว วัดพระเชตุพนฯ และพระมหาบรมราชวัง 

ต่อมาองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียนวัดพระเชตุพนฯ เป็นมรดกความทรงจำของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีมติรับรองเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 ยูเนสโกยังได้รับรองสิ่งดังกล่าวเป็นความทรงจำแห่งโลกในทะเบียนนานาชาติ (Memory of the World) โดยแบ่งเป็นหมวด ประวัติศาสตร์ พุทธศาสนา วรรณคดี ประเพณี ทำเนียบ สุภาษิต และ อนามัย (เกี่ยวกับท่าฤษีดัดตน ท่าแก้ปวดเมื่อยต่าง ๆ)   

ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เกิดจากพระมหาเมตตาและกรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยทุกคน เราจึงควรสำนึกและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาเจษฎาราชเจ้า รัชกาลที่ 3 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี