คนไทยย่อมคุ้นเคยกับสภาพภูมิอากาศประจำบ้านของเราดี ซึ่งได้แก่ ร้อน ร้อนมาก ร้อนที่สุด แต่ยิ่งนับวันอากาศก็ยิ่งร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่เคยอยู่ราว ๆ 37-38 องศาเซลเซียส แต่ตอนนี้เริ่มไต่ระดับขึ้นพรวดตั้งแต่ 40+ ไปจนเกือบ 50 องศาเซลเซียส ขนาดคนไทยที่ว่าคุ้นชินกับความร้อนมาตั้งแต่เกิด แต่กลับมีคนล้มป่วยและเสียชีวิตจากความร้อนของอากาศไปแล้วหลายราย วันนี้เราจะมาพูดถึงโรคอันตรายที่แฝงตัวมาพร้อมกับฤดูร้อนที่ควรระวังให้มาก ๆ กันค่ะ
ฮีทสโตรก หรือ ลมแดด
ช่วงนี้คนไทยจะได้ยินกันบ่อยขึ้นกับ ฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด หากพูดกันตามประสาบ้านเรา ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน ผนวกกับอาการขาดน้ำ จึงทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายสูงเกินไป หรือการสูญเสียน้ำในร่างกายออกไปทางเหงื่อ ปัสสาวะ และไม่มีการดื่มน้ำเข้าไปทดแทน ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการช็อคตามมานั่นเอง
เพลียแดด
เพลียแดดเกิดจากสาเหตุเดียวกับการเป็นลมแดด แต่จะไม่รุนแรงถึงขั้นชัก เป็นลมล้มพับลง หรือมีอาการช็อคแบบฮีทสโตรก แต่ก็มีความอันตรายที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เพราะเมื่อเกิดอาการเพลียแดดจนอ่อนแรงระหว่างขับรถ หรือทำงานกับเครื่องจักร อาจทำให้เกิดอันตรายจนถึงแก่ความพิการหรือเสียชีวิตได้
ผิวหนังไหม้แดด
เพราะแดดเมืองไทยนั้นร้ายยยยย ออกแดดแป๊บเดียว ผิวเป็นรอยคล้ำ ไหม้แดด และแสบผิว หลายคนที่มักจะละเลยการทากันแดด หรือหาอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เมื่อต้องออกกลางแจ้ง ทำให้ผิวโดนแดดจนคล้ำเสีย ยิ่งปัจจุบันแสงแดดมี UV สูงขึ้นตามความแรงของอุณหภูมิ ยิ่งแดดร้อนมากเท่าไร แสงยูวียิ่งสูง และเป็นอันตรายต่อผิวของเรามากยิ่งขึ้น นอกจากทำให้ผิวเราเป็นรอยหมองคล้ำ ยังทำให้ผิวลอก บางลง ผิวเป็นรอยไหม้ แสบ และยังสะสมจนก่อให้เเกิดมะเร็งผิวหนัง จึงควรทากันแดด ใช้อุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น สวมหมวก ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมแว่นตา รวมไปถึงการใช้เจลว่านหางจระเข้ทาผิวหลังออกแดด หรือมอยเจอร์ไรเซอร์ เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ป้องกันผิวแห้ง และแสบหรือลอก
ตะคริวแดด
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือทำงานออกแรงท่ามกลางแดด เช่น การวิ่ง ปั่นจักรยาน การก่อสร้าง ทำถนน เป็นต้น ล้วนแต่เสี่ยงต่อการเกิด ตะคริวแดด ได้ทั้งสิ้น โดยอาการตะคริวแดดจะคล้ายกับตะคริวธรรมดาทั่วไป เช่น อาการกล้ามเนื้อกระตุก ชา เกร็ง หรือรู้สึกปวดและเจ็บอย่างมากตรงบริเวณที่เป็นตะคริว หากเกิดอาการเช่นนี้ ให้หยุดกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ทั้งหมดก่อน แล้วอยู่นิ่ง ๆ จากนั้นค่อย ๆ จิบน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นน้ำเปล่า หรือน้ำผลไม้ เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไปในรูปแบบเหงื่อ หากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้น ควรหยุดออกกำลังกาย หรืองดกิจกรรมกลางแจ้งไปก่อนประมาณ 1-2 วัน และหากอาการยังไม่ดีขึ้นอีก ควรไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการตรวจและวินิจฉัย