เป็นปากนกกระจอกต้องรักษายังไง เป็นโรคร้ายแรงหรือเปล่า

ปากนกกระจอกคืออะไร 

Angular Cheilitis หรือ ปากนกจอก คือ มุมปากมีภาวะอักเสบ โดยมีมุมปากจะแห้ง แตก มีรอยแดง บวม หรือเป็นแผล และอาจมีอาการตึงที่มุมปาก อ้าปากแล้วจะรู้สึกตึงและเจ็บ อาจเป็นที่มุมปากข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง  และจะมีอาการโรคปากนกกระจอกประมาณ 2-3 วัน หรืออาจนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุ

ปากนกกระจอก อาการเป็นอย่างไร 

อาการปากนกกระจอกจะรู้สึกระคายเคือง มีตุ่มคัน แห้งและตึงตรงมุมปาก อาจมีรอยแดง บวม แตกเป็นแผลหรือเกิดสะเก็ดบริเวณมุมปากที่เป็น และอาจเจ็บปาก ปวดแสบปวดร้อน รับประทานอาหารลำบาก และมีของเหลวไหลเยิ้มออกมา

อาการของปากนกกระจอกกี่วันหาย 

อาการของโรคปากนกกระจอกเพียง 2-3 วัน หรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดปากนกกระจอก

ปากนกกระจอก สาเหตุเกิดจากอะไร 

สาเหตุโรคปากนกกระจอกมักเกิดจากการติดเชื้อราผิวหนัง Candida หรือเชื้อแคนดิดา ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดผื่นผ้าอ้อมในเด็กทารก นอกจากนี้ โรคปากนกกระจอกยังมีสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้ 

  • ติดเชื้อภายในช่องปาก เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อราในช่องปาก หรือเชื้อไวรัส โรคเริมริมฝีปาก เป็นต้น และเชื้อได้ลุกลาม 
  • การเลียปาก เพราะเมื่อเลียปาก น้ำลายที่หมักหมมบริเวรมุมปายิ่งทำให้ปากแห้งและแตกได้ง่ายขึ้น และถ้ายิ่งเลียมุมปากที่แห้งตึงมากเท่าไร ยิ่งทำให้เชื้อรากระจายและติดเชื้อมากยิ่งขึ้น จนเกิดการอักเสบหรือผื่นแพ้ Inrritant contact dermatitis ร่วมด้วย 
  • มุมปากตก ริมฝีปากบนตกลงมาคร่อมทับริมฝีปากล่างมากเกินไป 
  • ผลข้างเคียงจากยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน 
  • ผลจากการใช้ยาปฏิชีวนะ 
  • การใส่ฟันปลอม เนื่องจากการใส่ฟันปลอมอาจทำให้มีเกิดภาวะเหงือกร่น โดยเฉพาะใส่ปลอมไม่พอดีกับขนาดช่องปาก 
  • การจัดฟัน เพราะต้องใส่ยางสำหรับจัดฟันตลอดเวลา อาจทำให้มีน้ำลายล้นออกมาหมักหมมบริเวณมุมปาก 
  • ผู้ป่วยโรคบางชนิด อาทิ ผู้ป่วยระบบทางเดินอาหารกลุ่ม IBD (Inflammatory Bowel Disease) เช่น ลำไส้อักเสบ , ผู้ป่วยโรคแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) , ผู้ป่วยโรคโครห์น (Crohn Disease) ,ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม , ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง , มะเร็ง หรือ ผู้ป่วยโรคเอดส์ 
  • ขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ขาดธาตุเหล็ก ขาดวิตามินบี โดยเฉพาะวิตามินบี 2 
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาอะซิเทรติน (รักษาโรคสะเก็ดเงิน)  ยาไอโซเตรทติโนอิน (รักษาสิว) เป็นต้น 

ปากนกกระจอกรักษาอย่างไร 

กรณีที่ปากนกกระจอกที่มีสาเหตุจากเชื้อรา จะต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านเชื้อรา ดังนี้ 

  • ไมโคนาโซล (Miconazole) คือยารักษาเชื้อราแคนดิดา และเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก โดยทาไมโคนาโซลตรงบริเวณมุมปากที่มีการติดเชื้อวันละ 2 ครั้ง แต่ไม่ควรใช้ไมโคนาโซลสำหรับผู้ที่กำลังใช้ยา Warfarin (วาร์ฟาริน) เพราะจะทำให้เลือดออกมาก เนื่องจากฤทธิ์ของตัวยาทั้งสองต้านกันรุนแรง 
  • ไนสแตนดิน (Nystatin) แพทย์จะจัดยานี้ให้ผู้ป่วย เพื่อรักษาปากนกกระจอกที่เกิดจากเชื้อราในช่องปากหรือในทางเดินอาหาร โดยวิธีการใช้ยาไนสแตนดิน คือ อมไว้ในปากให้นานที่สุดแล้วค่อยกลืน วันละ4 ครั้ง 
  • โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เป็นยารักษาโรคเชื้อรา เช่น เชื้อราใต้ร่มผ้า เชื้อราที่ขาหนีบ น้ำกัดเท้า กลาก เกลื้อน โดยตัวยาจะมีฤทธิ์ที่ส่งผลต่อเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา ทำให้เชื้อราตายลงในที่สุด 
  • คีโคไตรมาโซล (Ketoconazole) โดยแพทย์จะให้ยาคีโตโคนาโซลรักษาโรคปากนกกระจอกในกรณีที่ใช้วิธีอื่นรักษาแล้วไม่สามารถทำให้อาการทุเลาลงได้เท่านั้น เนื่องจากการใช้คีโคไตรมาโซลอาจมีผลกระทบต่อตับได้ จึงต้องปรึกษาแพทย์ก่อน และใช้อย่างระมัดระวัง 

กรณีโรคปากนกกระจอกจากเชื้อแบคทีเรีย อาจได้รับยาต่อไปนี้ 

  • มิวพิโรซิน  (Mupirocin) คือ ยารักษาอาการติดเชื้อทางผิวหนัง โดยตัวยาจะมีฤทธิในการยับยั้งการผลิตโปรตีนที่เป็นอาหารของแบคทีเรียผิวหนัง ใช้ในผู้ป่วยปากนกกระจอกที่มีสาเหตุมากจากโรคพุพอง 
  • กรดฟูซิดิก (Fusidic Acid) คือ ครีมหรือขี้ผึ้งซึ่งเป็นยาทาภายนอกที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย สาเหตุของการติดเชื้อผิวหนัง ใช้ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อสแตปฟิโลค้อกคัส ออเรียส และเชื้อโครีนแบคทีเรียม โดยสามารถใช้ยาตัวนี้รักษาโรคผิวหนังได้หลายโรค เช่น ปากนกกระจอกที่ติดเชื้อจากแบคทีเรีย โรคพุพอง ผู้ที่มีอาการรูขุมขนอักเสบ และควรใช้ยาที่มีกรดฟูซิดิกตามแพทย์สั่งเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีวิธีการดูแลและรักษาโรคปากนกกระจอกด้วยผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการได้เช่นกัน ดังนี้ 

  • Amtiseptics หรือ น้ำยาฆ่าเชื้อ คือ สารสำหรับใช้ในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ภายนอกร่างกาย โดยแพทย์จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อล้างแผลบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อ เพื่อทำความสะอาดและลดการติดเชื้อ 
  • ยาสเตียรอยด์ชนิดทา มีทั้งชนิดครีม ขี้ผึ้ง และอื่น ๆ โดยจะใช้ทาบริเวณที่เป็นเพื่อต้านการอักเสบ แต่อาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้หากมีการใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยอาจส่งผลให้ผิวหนังฉีกขาดได้ง่าย ผิวแตกลาย หลอดเลือดขยายใหญ่ขึ้น เป็นต้น 
  • ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้น เช่น ขี้ผึ้ง ครีม วาสลีน น้ำมัน หรือโลชั่น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับบริเวณที่มีอาการ ช่วยบรรเทาอาการแห้งแตก และการระคายเคืองของผิวหนัง สำหรับผู้ป่วยปากนกกระจอกที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย 
  • วิตามินหรืออาหารเสริม เช่น วิตามินบี 2 หรือ ธาตุเหล็ก สำหรับผู้ที่เป็นปากนกกระจอก วิตามินหรือสารอาหารไม่เพียงพอต่อร่างกาย หรือเป็นโรคแพ้กลูเตน จึงต้องทานวิตามินหรืออาหารเสริม เพื่อบำรุงร่างกาย 

การป้องกันโรคปากนกกระจอก 

โรคปากนกกระจอกป้องกันได้โดยการดูแลสุขภาพ ดังต่อไปนี้ 

  • ทาลิปบาล์มที่มีส่วนผสมขี้ผึ้งหรือวาสลีนเป็นประจำ โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
  • ไม่ควรเลียริมฝีปากเมื่อปากแห้งหรือแตก เพราะจะยิ่งทำให้ปากแห้งมากขึ้นและเกิดแผลหรือติดเชื้อได้ 
  • รักษาความสะอาดภายในช่องปากสม่ำเสมอ 
  • กรณีใส่ฟันปลอมควรเลือกใส่ที่มีขนาดพอดี หมั่นทำความสะอาดฟันปลอมให้สะอาด และไม่ใส่ฟันปลอมนอน
  • งดสูบบุหรี่