สาเหตุเกิดเพลิงไหม้ และวิธีป้องกัน 

จากเหตุการณ์ไฟไหม้ผับชลบุรีล่าสุด “Mountain B Pub” สถานบันเทิงชื่อดังในพื้นที่ ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่เพิ่งเปิดให้บริการได้ไม่นาน ก่อนจะเกิดเพลิงไหม้จนมีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 15 ราย โดยเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 13 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเพิ่มอีก 2 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บอีกหลายรายด้วยกัน และหลังเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ เจ้าหน้าที่ได้ทำการเข้าตรวจสอบสถานที่ เพื่อหาสาเหตุการเกิดไฟไหม้มีอะไรบ้าง มีการแจ้งว่าเมื่อช่วงบ่ายในวันเดียวกันที่เกิดเหตุการณ์ ทางร้านได้มีการเรียกช่างให้มาซ่อมสายไฟ เนื่องจากมีปัญหาที่ระบบไฟ ช่างจึงทำการเดินสายไฟตรงเพดาน ก่อนที่ผับจะทำการเปิดให้บริการตามปกติในคืนนั้นจนเกิดเหตุดังกล่าว ซึ่งได้พบว่าสาเหตุไฟไหม้ผับ Mountain B ต้นตอของการเกิดโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ มีรายละเอียดดังนี้ 

1. แผงวงจรไฟฟ้ายังเปิดทำงานอยู่ ขณะที่เกิดไฟไหม้ ไม่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าตัดระบบไฟ

2. มีการใช้กระแสไฟเกินขนาด แต่คัทเอาท์กับเบรกเกอร์ไม่ตัดวงจรไฟ 

3. ฉนวนสายไฟหลอมละลาย อาจเนื่องมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน หรือใช้ไฟเกินขนาดจนสายไฟละลาย 

4. ทางเดินสายไฟที่ต่อเข้าร้านลากผ่านต้นกล้วย มีร่องรอยไฟไหม้ (ซึ่งทางเดินสายไฟก็ค่อนข้างอันตรายอยู่แล้ว) 

5. พยานในที่เกิดเหตุแจ้งว่าคัทเอาท์มีเสียงดังจากข้างลำโพง แล้วก็เกิดประกายไฟตามมา 

6. มีการติดตั้งวัสดุไวไฟภายในอาคาร โดยเฉพาะใกล้จุดแหล่งจ่ายไฟ 

ไม่เพียงแต่เหตุการณ์ไฟไหม้ผับชลบุรีล่าสุดเท่านั้น แต่เหตุอัคคีภัยหลายแห่งที่มักจะมีสาเหตุจากไฟฟ้าลัดวงจร การใช้กระแสไฟมากเกินขนาด หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าเก่าและชำรุด รวมไปถึงใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่มีคุณภาพ ไร้มาตรฐาทางอุตสาหกรรม ซึ่งแหล่งกำเนิดอัคคีภัยมีได้หลายปัจจัยด้วยกัน 

สาเหตุของการเกิดอัคคีภัยมีได้หลายปัจจัยดังนี้ 

  • อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า 
  • ไฟฟ้าสถิต 
  • จุดไฟหรือสูบบุหรี่ใกล้แหล่งเชื้อเพลิงหรือแหล่งที่เกิดประกายไฟได้ง่าย 
  • การเชื่อมและตัดโลหะ
  • เตาเผาที่ไม่มีฝาปิดหรือเปลวไฟที่ไม่มีสิ่งปกคลุม 
  • การลุกไหม้หรือเกิดประกายไฟด้วยตัวเอง เช่น ขยะแห้ง 
  • การวางเพลิง
  • จุดธูปเทียน
  • ปล่อยให้เด็กเล่นไฟ 
  • อื่นๆ 

ทฤษฎีการเกิดไฟมีองค์ประกอบ 3 อย่างด้วยกัน คือ 

1. ออกซิเจน (Oxygen) ไม่ต่ำกว่า 16% (โดยปกติในบรรยากาศจะมีออกซิเจนอยู่ประมาณ 21%) 

2. เชื้อเพลิง (Fuel) หรือส่วนที่เป็นไอ  

3. ความร้อน (Heat) ที่พอจะทำให้เกิดประกายไฟ หรือลุกไหม้ได้ 

เมื่อองค์ประกอบ 3 อย่างครบ จะทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีต่อเนื่องแบบลูกโซ่ Chain Reaction ดังนั้นทฤษฎีการดับไฟ คือการกำจัดองค์ประกอบของไฟ ไม่ให้เกิดการลุกลามได้ 

วิธีการดับไฟเบื้องต้น

1. ตัดออกซิเจน เช่น ฉีดโฟมคลุม หรือหาผ้าหนาๆหนักๆคลุม เป็นต้น 

2. ตัดเชื้อเพลิง เช่น ขนถ่ายเชื้อเพลิงให้เหลือน้อยที่สุด 

3. ลดความร้อน เช่น การฉีดน้ำ (cooling)  

การดับไฟด้วยโฟม

เพลิงไหม้มีกี่ระดับ 

เพลิงไหม้จะมีระยะการเกิดไฟไหม้ 3 ระยะ ด้วยกัน 

1. ไฟไหม้ระยะต้น คือ ตั้งแต่มีเปลวไฟไปจนถึงประมาณ 5 นาที ซึ่งยังไม่เกิดการลุกลาม สามารถระงับและดับไฟได้โดยใช้เครื่องดับเพลิงเบื้องต้น แต่ผู้ใช้งานจะต้องมีการฝึกและอบรมการใช้งานของเครื่องมาก่อน เพื่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย 

2. ไฟไหม้ระดับกลาง คือ ระยะเวลาที่เกิดไฟไหม้ไปแล้วประมาณ 5-8 นาที โดยมีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 400 องศาเซลเซียส ทำให้การดับเพลิงเบื้องต้นจะเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะหากจะใช้เครื่องดับเพลิงเบื้องต้น จะต้องเป็นผู้ความชำนาญในการใช้งาน และยังต้องมีอุปกรณ์ที่มากพอ จึงจะดับไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย 

3. ไฟไหม้ระดับรุนแรง คือ เกิดไฟไหม้อย่างต่อเนื่องเกินกว่า 8 นาที มีอุณหภูมิสูงกว่า 600 องศาเซลเซียส และไฟลุกลามไปทุกทิศทางอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งการดับเพลิงในระยะนี้จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี อย่างเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เป็นต้น 

อันตรายจากไฟไหม้

ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตในเพลิงไหม้ เนื่องจากสำลักควันเขม่า หมดสติ หรือกำลังนอนหลับ และอุปสรรคที่มักจะเกิดขึ้นคือ ความมืดปกคลุมบริเวณที่เกิดเหตุ เนื่องจากอยู่ภายในอาคารแล้วกระแสไฟฟ้าถูกตัด มีหมอกควันแน่นหนา และเวลาที่เกิดเป็นตอนกลางคืนมักจะควบคุมสถานการณ์ได้ยากกว่า และเสี่ยงต่อมีผู้เสียชีวิตมากกว่า เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่หลายคนอาจกำลังหลับลึก ไม่มีสติที่จะช่วยเหลือตนเองได้ เป็นเหตุให้โดนไฟคลอกจนเสียชีวิต 

วิธีป้องกันอัคคีภัย

1. ติดตั้งอุปกรณ์ตัดไฟ เบรกเกอร์ เพื่อตัดกระแสไฟอัตโนมัติ เมื่อระบบไฟฟ้าผิดปกติ หรือเกิดการขัดข้อง เพื่อป้องกันกระแสไฟรั่ว ไฟฟ้าลัดวงจร และไฟช็อตได้ 

2. ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฉุกเฉิน (Emergency Light) ที่ทำงานด้วยระบบแบตเตอรี่ทันที เมื่อกระแสไฟฟ้าถูกตัด

3. ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง เมื่อกระแสไฟฟ้าถูกตัด 

4. เตรียมไฟฉายแรงสูงให้มีจำนวนที่เพียงพอและเก็บตั้งไว้ในจุดที่สะดวกต่อการหยิบใช้งาน 

5. ฝึกซ้อมหนีไฟในทุกสถานการณ์อยู่เสมอ ทั้งในรูปแบบที่เกิดเพลิงไหม้ในความมืด ด้วยตนเองที่บ้าน ที่ทำงาน ในโรงแรม หรือแม้แต่ในโรงพยาบาล เพราะไฟไหม้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา

6. คอยสังเกตทางหนีไฟ ทางออกจากอาคารที่ใกล้และปลอดภัยที่สุด เผื่อกรณีเกิดเหตุไม่คาดคิด จะได้สามารถรับมือและเอาตัวเองรอดได้ 

วิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้เมื่ออยู่ในอาคาร

1. จัดเตรียมหน้ากากหนีไฟฉุกเฉิน (Emergency smoke mask) หรือใช้ผ้าชุน้ำปิดจมูกและปาก หรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่ตักอากาศ แล้วคลุมศีรษะเพื่อป้องกันสูดดมเอาควันไฟเข้าสู่ร่างกาย 

2. ย่อตัวหรือคลานต่ำไปยังทางออก เพราะอากาศที่สามารถหายใจได้จะอยู่สูงจากพื้นไม่เกิน 1 ฟุต พยายามอย่าฝ่าไฟหรือวิ่งหนีไฟแนวดิ่ง เพราะจะสูดเอาเขม่าควันไฟเข้าสู่ปอด และอาจสำลักหรือหมดสติ จนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ 

3. หากรู้ต้นเหตุของการเกิดเพลิงไหม้และสามารถทำการดับไฟได้ด้วยตนเอง ให้รีบดับไฟให้เร็วที่สุด ภายใน 5 นาที หลังจากที่เกิดเปลวไฟ แต่ถ้าประเมินแล้วไม่สามารถทำได้ ให้รีบออกจากจุดเกิดเหตุที่สุด ไปยังจุดรวมพล

4. ห้ามใช้ลิฟท์หรือบันไดเลื่อนขณะเกิดไฟไหม้ เด็ดขาด 

5. หากอยู่ในความมืด ให้สังเกตไฟนำทาง เพื่อไปยังบันไดหนีไฟ 

6. หากติดอยู่ในห้องและมีไฟไหม้นอกห้อง ให้สัมผัสผนังหรือลูกบิดประตู อย่ารีบเปิดประตูเพราะอาจทำให้เปลวไฟพุ่งใส่เข้าตัวจนเป็นอันตรายได้ หากสัมผัสแล้วรู้สึกได้ว่ามีความร้อนสูง ห้ามเปิดประตูเด็ดขาด แต่ให้หาผ้าชุบน้ำ แล้วอุดตามร่องประตู และช่องลม ป้องกันไม่ให้ควันไฟเข้ามาสู่ภายในห้องได้ แล้วรีบร้องขอความช่วยเหลือทางระเบียงหรือหน้าต่าง 

7. เมื่อออกจากอาคารหนีไฟไหม้ได้แล้ว ห้ามกลับเข้าไปในเพลิงไหม้เด็ดขาด ไม่ว่าจะเพื่อช่วยเหลือคนหรือเข้าไปเก็บของสำคัญก็ตาม แต่ควรแจ้งเจ้าหน้าที่และบอกจุดพิกัดให้ชัดเจน (หากสามารถบอกได้) เพื่อเจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างรวดเร็ว 

8. จดจำเบอร์ฉุกเฉินให้ได้ หรือจดแล้วติดไว้ตามจุดต่างๆ ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน โดยหมายเลขฉุกเฉิน 199 หรือ 1669 เป็นต้น  

เพลิงไหม้หรืออัคคีภัยสร้างความเสียหายได้อย่างมหาศาล จึงมีคำพูดที่ว่า โจรขึ้นบ้าน 10 ครั้ง ยังไม่เท่าไฟไหม้เพียงครั้งเดียว ดังนั้นไม่ควรประมาทเป็นอย่างยิ่ง จะต้องมีความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษในเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกประเภท เลือกใช้แต่สินค้าที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานทั้งแหล่งผลิตและตัววัสดุ รวมไปหมั่นสังเกตเมื่อไปสถานที่ต่างๆ และฝึกซ้อมการหนีไฟอยู่เสมอ เพื่อให้สมองและร่างกายจดจำ เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตหากเกิดเหตุการณ์จริง เพราะอุบัติภัยไม่เคยแจ้งใครล่วงหน้า!