ปัจจุบันมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นเยอะมาก เนื่องจากมีหลายคนที่หันมาทำธุรกิจของตัวเอง ทั้งแบบธุรกิจในครอบครัว ธุรกิจเล็ก ๆ และธุรกิจที่ขยายเป็นบริษัทใหญ่ ซึ่งการเปิดบริษัทสิ่งสำคัญที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย คือ “การจดทะเบียนบริษัท” แล้วจะต้องทำอย่างไร มีกระบวนการและขั้นตอนอย่างไรบ้าง เรามาดูกันเลย
1. ตั้งชื่อบริษัทที่ต้องการใช้ในการจดทะเบียน
ก่อนจะทำการจดทะเบียน คุณจะต้องมีชื่อบริษัทก่อน โดยชื่อที่จะใช้จดทะเบียนจะต้องไม่ซ้ำหรือคล้ายกับบริษัทอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว โดยที่เราสามารถเสนอชื่อเพื่อยื่นจองได้สูงสุด 3 ชื่อ นายทะเบียนจะพิจารณาชื่อแรกก่อน หากชื่อแรกซ้ำหรือไม่ผ่านเกณฑ์ ก็จะพิจารณาชื่อในลำดับถัดไป ส่วนการยื่นจองชื่อเพื่อจดทะเบียนบริษัททำได้ 2 แบบ คือ
- ยื่นด้วยตนเอง ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตที่เราอาศัยอยู่ หรือสำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัดกรณีที่อยู่ต่างจังหวัด
- จองผ่านอินเทอร์เน็ต โดยกรอกข้อมูลที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th
2. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและยื่นต่อนายทะเบียน
หนังสือบริคณห์สนธิ คือ หนังสือที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้สำหรับแสดงความต้องการจัดตั้งบริษัท โดยจะต้องระบุวัตถุประสงค์ ที่อยู่ จำนวนหุ้น และข้อมูลของผู้ก่อตั้งอย่างน้อย 3 คน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปต่อได้ โดยจะต้องขึ้นต้นว่า “บริษัท” และลงท้ายด้วยคำว่า “จำกัด” และจะต้องยื่นหนังสือบริคณห์สนธิภายใน 30 วัน หลังจากได้รับผลแจ้งการรับรองชื่อบริษัทจากนายทะเบียน
3. จัดให้มีการจองซื้อหุ้นบริษัทและนัดประชุมผู้ถือหุ้น
ผู้ถือหุ้นทุกคนจะต้องถือหุ้นคนละ 1 หุ้น หรือมากกว่านั้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท เมื่อทำการขายหุ้นบริษัทครบแล้ว จะต้องมีการออกหนังสือเพื่อทำการนัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยกำหนดให้มีการจัดประชุมหลังจากที่ออกหนังสือนัดอย่างน้อย 7 วัน
4. การจัดประชุมเพื่อจัดตั้งจดทะเบียนบริษัท
จากข้อ 3 ในการประชุมจะต้องประกอบไปด้วยสาระสำคัญฯ คือ การตั้งระเบียบข้อบังคับของบริษัท มีการเลือกคณะกรรมการบริษัทและอำนาจของคณะกรรมการ การเลือกผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เพื่อทำการตรวจสอบและรับรองงบการเงิน โดยจะต้องคัดเลือกบุคคลธรรมดาที่ไม่มีส่วนสัมพันธ์กับผลประโยชน์ใด ๆ ของบริษัทเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี การรับรองสัญญาที่ผู้ก่อตั้งทำขึ้นก่อนจดทะเบียนบริษัท และมีการกำหนดรายได้แก่ผู้ก่อตั้งบริษัท ตลอดไปจนถึงหุ้นบุริมสิทธิกับหุ้นสามัญ
5. เลือกคณะกรรมการบริษัท
ในวาระการประชุมควรทำการเลือกตั้งคณะกรรมการ สำหรับทำหน้าที่แทนผู้ก่อตั้ง และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในนามบริษัท และเก็บเงินชำระค่าหุ้นอย่างน้อย 25% ของราคาจริง และเมื่อเก็บค่าหุ้นครบแล้ว จึงทำการขอจดทะเบียนบริษัท โดยยื่นจดทะเบียนภายใน 3 เดือน หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น แต่ถ้าเกิดล่าช้าหรือเกินระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าการประชุมเป็นโมฆะ และให้ทำการจัดประชุมผู้ถือหุ้นใหม่อีกครั้ง
6. ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัท
สำหรับการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ จะมีค่าธรรมเนียมโดยดำเนินการจาก
เงินทุนจำนวนแสนละ 50 บาท โดยจะคิดเป็นจำนวนเต็มแสนเท่านั้น ไม่ว่าจะมีเศษเกินมากี่บาทก็ตาม และชำระขั้นต้ำต้องไม่น้อยกว่า 5,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท
ค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือรับรอง ฉบับละ 200 บาท
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท
ค่ารับรองสำเนาเอกสาร หน้าละ 50 บาท
7. รับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท
เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนบริษัทและมอบหนังสือรับรองแล้ว ถือว่าบริษัทได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฏหมาย มีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ โดยสมบูรณ์ตามที่บริษัทพึงมีทุกประการ
หากรู้ขั้นตอนและดำเนินได้ถูกต้องตามลำดับ ก็จะสามารถจัดตั้งบริษัทได้อย่างราบรื่น หรืออาจปรึกษากับผู้มีประสบการณ์เคยก่อตั้งบริษัทมาก่อน ก็จะทำให้มีลู่ทางและดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสำเร็จได้อย่างรวดเร็วขึ้น