พนักงานหรือคนทำงานทั่วไปที่ได้ชื่อว่า ลูกจ้าง รู้ไหมว่า นอกจากสิทธิ์ประกันสังคมแล้ว ตนมีสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของลูกจ้างอะไรบ้างที่ต้องรู้ เชื่อว่าอีกหลายคนเลยทีเดียวที่ทำงานมาตั้งนาน รู้สิทธิ์ของตนในที่ทำงานไม่หมดและอาจไม่ครบ ทำให้เสียสิทธิ์ของตนไปอย่างน่าเสียดาย วันนี้เราจะนำสิทธิ์ของลูกจ้างที่พึงมีและควรรู้ไว้มาเสนอ เผื่อลูกจ้างคนไหนที่กำลังลังเลหรือไม่แน่ใจว่าตนทำอะไรได้บ้าง ได้ใช้สิทธิ์ได้อย่างถูกต้องและไม่ต้องกลัวว่าจะทำผิด พ.ร.บ.แรงงาน
สิทธิของลูกจ้างตามกฏหมายแรงงาน พ.ศ. 2541
1. เวลาทำงานปกติไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง รวมแล้วต้องไม่เกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง
2. ต้องมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง หลังจากทำงานติดต่อไม่เกิน 5 ชั่วโมง
3. วันหยุดต้องไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 วัน
4. วันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่าปีละ 13 วัน ถ้าวันหยุดประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ให้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป
5. วันหยุดพักผ่อนประจำปีอาจมี 6-10 วัน ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 6 วัน / ปี โดยยังได้รับค่าจ้างตามปกติ หากใช้สิทธิไม่ครบในปีนั้น สามารถทบไปใช้ปีถัดไปได้
6. มีสิทธิลาป่วยจริงได้ไม่เกิน 30 วัน / ปี โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ
7. มีสิทธิลากิจได้ไม่น้อยกว่า 3 วัน / ปี โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ
8. สามารถลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วัน / ครั้ง รวมวันลาตรวจครรภ์ แต่จะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างไม่เกิน 45 วัน และรับค่าจ้างระหว่างลาคลอดบุตรจากประกันสังคม 45 วัน
9. มีสิทธิ์ลาทำหมันได้ตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด โดยมีใบรับรองแพทย์ โดยได้ค่าจ้างตามปกติ
10. มีสิทธิได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ
11. มีสิทธิ์ลาเพื่อฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยไม่ได้รับค่าจ้างในวันลานั้น
12. มีสิทธิ์ลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพลตรวจสอบ ฝึกวิชาทหาร โดยลาได้เท่ากับจำนวนวันที่ทางการทหารเรียกและได้รับค่าจ้างตามปกติตลอดระยะที่ลา
13. ค่าล่วงเวลา (OT) ไม่น้อยกว่า 1 ½ เท่าของค่าจ้างปกติ
14. ค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 2 เท่าของค่าจ้างปกติ
15. สิทธิได้รับค่าทดแทน 4 ประเภท คือ ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสรรถภาพในการทำงาน ค่าทำศพ และค่าทดแทนเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน
16. ลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ไม่น้อยกว่า 30 วัน กรณีถูกเลิกจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน
17.กรณีย้ายสถานที่ประกอบการ ย้ายสำนักงาน นายจ้างต้องประกาศให้ชัดเจน ส่วนลูกจ้างที่ไม่ต้องการย้ายตาม สามารถแจ้งความประสงค์ได้ภายในเวลา 30 วัน ก่อนทำการย้าย
18. กรณีเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายเงินแก่ลูกจ้างในอัตราที่เท่ากับลูกจ้างจะต้องได้รับ นับตั้งแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน รวมถึงค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ภายใน 3 วัน
19. กรณีนายจ้างจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วน หรือหยุดกิจการทั้งหมด นายจ้างต้องจ่างเงินให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่า ร้อยละ 75% ของค่าจ้างงวดสุดท้ายก่อนนายจ้างหยุดกิจการ
20. กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าตอบแทนให้ลูกจ้าง ไม่จ่ายเงินกรณีบอกเลิกสัญญาจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานและไม่จ่ายเงินที่สมควรจ่าย นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยให้ลูกจ้างระหว่างผิดนัด ร้อยละ 15 / ปี เพิ่มอัตราค่าชดเชยเลิกจ้าง โดยคำนวณตามระยะเวลาการทำงาน โดยอัตราชดเชยค่าเลิกจ้างตาม พ.ร.บ. มีดังนี้
- ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน
- ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน
- ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้ค่าชดเชย 180 วัน
- ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้ค่าชดเชย 240 วัน
- ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้ค่าชดเชย 300 วัน
- ทำงาน 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 400 วัน
เนื่องจากค่าจ้างคือเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันในส่วนค่าตอบแทนจากการทำงาน ซึ่งแตกต่างกันไปตามรูปแบบของบริษัทตามระยะเวลาการทำงานปกติ โดยเป็นผลตอบแทนการทำงานรายชั่วโมง ทำงานรายวัน หรือทำงานรายเดือน แต่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงสิทธิประโยชน์ตามกฏหมายแรงงานฉบับล่าสุด ได่สรุปกฏหมายแรงงานอันเป็นกฏหมายที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่เจ้าของบริษัทควรรู้และระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยมีการกำหนดมาตรฐานเพื่อให้ผู้ทำงานมีสุขภาพอนามัยที่ดีและมีความปลอดภัยต่อชีวิตระหว่างการทำงาน พร้อมทั้งได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม ดังนั้นทั้งนายจ้างและลูกจ้างควรรู้และทำความเข้าใจ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานเพื่อรักษาสิทธิของตนนั่นเอง