ประเพณีบุญกฐิน ความสำคัญ ประวัติ คำถวาย และอานิสงส์

“กฐิน” เป็นคำภาษาบาลี แปลว่า ไม้สะดึง คือ ไม้แบบตัดจีวรของพระภิกษุในสมัยก่อน เพราะภิกษุจะต้องช่วยกันตัดเย็บจีวรนุ่งห่มเอง เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีจีวรสำเร็จรูปจำหน่าย และไม่มีเครื่องทุ่นแรงอย่างจักรเย็บผ้าเช่นปัจจุบัน เหล่าภิกษุจึงต้องใช้ไม้สะดึงขึงผ้าเพื่อใช้ในการตัดและเย็บจีวรกันเอง 

แต่ตามพจนานุกรมฉบับพระราชบัญฑิตยสถาน พ.ศ.2493 ได้ให้ความหมาย กฐิน คือ “ผ้าที่ถวายพระซึ่งจำพรรษาแล้ว” 

ส่วนการทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์ ที่มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป โดยวางผ้าแบบสังฆทาน คือ ไม่ได้กำหนดเจาะจงว่าจะถวายรูปใดรูปหนึ่ง

ภาพจาก https://thainews.prd.go.th/

ทำบุญกฐินเดือนไหน

ระยะเวลากำหนดของการทอดกฐิน เริ่มตั้งแต่ 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12 โดยมีกำหนดเป็นเวลา 1 เดือน หลังจากออกพรรษา เรียกว่า “กฐินกาล” คือ ระยะเวลาของการทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน นั่นเอง ซึ่งจะทอดก่อนหรือภายหลังที่กำหนดนี้ไม่ได้ 

บุญกฐินจัดขึ้นเพื่ออะไร 

  • สงเคราะห์พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบไตรมาสให้ได้รับอานิสงส์ตามพุทธบัญญัติ
  • ดำรงรักษาพระพุทธบัญญัติให้คงอยู่สืบไป เป็นการปฏิบัติบูชาต่อพระพุทธศาสนา
  • สืบทอดประเพณีการทอดกฐิน รักษาวัฒนธรรมทางศาสนาของคนไทย 
  • เสริมสร้างความสามัคคีในหมู่สงฆ์และฆราวาส 

ประวัติกฐินสมัยพุทธกาล

ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีการทอดผ้ากฐิน แต่มีการจำพรรษาในช่วงฤดูฝนเป็นเวลา 3 เดือน และมีผ้าบังสุกุล คือ ผ้าเปื้อนฝุ่น ซึ่งเป็นผ้าที่ภิกษุจะต้องแสวงหาผ้าที่ไม่มีเจ้าของ ผ้าที่เขาทิ้งตามสถานที่ต่าง ๆ กองขยะ ข้างถนน ป่าช้า รวมถึงถึงผ้าห่มคลุมศพที่ถูกทิ้งไว้ในป่า ซึ่งผ้าเหล่านั้นมักจะเปรอะเปื้อน มีคราบ และเลอะฝุ่น จึงเป็นที่มาของคำว่า ผ้าบังสุกุล แปลว่า ผ้าที่เปื้อนไปด้วยฝุ่น ผ้าที่ได้มาจากกองฝุ่น และทำพิธีบังสุกุลก่อนที่จะนำผ้าไปตัดเย็บเป็นจีวร 

ส่วนที่มาของผ้ากฐินเกิดจากที่ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล ใกล้เข้าสู่ฤดูกาลจำพรรษา มีภิกษุชาวเมืองปาฐา จำนวน 30 รูป ต้องการเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ทรงประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ซึ่งเป็นพระอารามที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สร้างถวายเป็นพุทธนิวาส แต่เมื่อภิกษุเดินทางมาถึงเมืองสาเกตก็ตรงกับช่วงเวลาที่ต้องจำพรรษาพอดี จึงต้องเข้าจำพรรษาที่เมืองสาเกต และเมื่อถึงวันออกพรรษา เหล่าภิกษุรีบรุดเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค แม้ว่าจะในขณะนั้นจะยังอยู่ในช่วงฝนตกหนัก หนทางลื่น เลอะไปด้วยดินและโคลน ทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ภิกษุทั้งหมดก็มิได้ย่อท้อหรือหวั่นเกรง ด้วยแรงศรัทธาต่อพระศาสดา และเมื่อภิกษุทั้ง 30 รูปได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาสมความตั้งใจ พระพุทธองค์ได้ตรัสถามการเดินทาง และได้ทรงทราบถึงความยากลำบากของหมู่สงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงตรัสธรรมมิกถาภิกษุเหล่านั้นได้สำเร็จพระอรหันตผล จากนั้นทรงเรียกประชุมภิกษุสงฆ์ทั้งหมด ทรงมีพระพุทธบัญญัติให้ภิกษุรับผ้ากฐินหลังจากออกพรรษาได้ โดยมีนางวิสาขาเป็นผู้ถวายกฐินเป็นคนแรก 

ภาพจาก https://th.wikipedia.org/

การทอดกฐินในประเทศไทยมีกี่ประเภท 

งานบุญกฐิน คือ ประเพณีและวัฒนธรรมไทยที่สืบทอดกันมาช้านาน และการทอดกฐินยังสามารถแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้ 

กฐินหลวง 

กฐินหลวง คือ ผ้าพระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง 

กฐินพระราชทาน 

กฐินพระราชทาน คือ ผ้าพระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐินและเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ หน่วยงาน สมาคม หรือเอกชน ให้ไปทอดยังพระอารามหลวงต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย (ปัจจุบัน กรมการศาสนาเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบในการจัดผ้าพระกฐินและเครื่องกฐินถวาย) 

กฐินราษฎร์ 

กฐินราษฎร์ คือ ผ้ากฐินที่ราษฎร ประชาชนทั่วไป ได้จัดนำผ้ากฐินและเครื่องกฐินไปถวายตามวัดต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็น 

  • จุลกฐิน คือ กฐินที่ทำด้วยความรีบด่วน เพราะต้องทำให้สำเร็จภายในวันเดียว ตั้งแต่การจัดเก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายพระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จสิ้นภายในเช้าวันหนึ่ง ไปจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ซึ่งจะต้องอาศัยความสามัคคีของหมู่คนจำนวนมาก ตามความเชื่อโบราณ ถือว่าจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความวิริยะและอุตสาหะ (มากกว่าแบบมหากฐิน) ภายในเวลาจำกัด 

  • มหากฐิน คือ การทอดกฐินที่มีบริวารกฐินมาก ไม่ต้องเร่งรีบแบบจุลกฐิน ทำให้มีเวลาในการรวบรวมไทยธรรมและสิ่งของต่าง ๆ ในการนำไปประกอบเป็นเครื่องกฐินถวายแด่พระสงฆ์ เพื่อนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อไป โดยมหากฐินอาจมีเจ้าภาพเพียงคนเดียว หรือมีเจ้าภาพร่วม หรือที่เรียกว่า กฐินสามัคคี ก็ได้ 

ภาพจาก https://thainews.prd.go.th/

องค์กฐินคืออะไร 

องค์กฐิน เป็นคำเรียกองค์ประกอบของใช้พระสงฆ์ ที่ใช้ถวายร่วมกับไตรจีวรแก่ภิกษุผู้ครองผ้ากฐินในปีนั้น ๆ ซึ่งแตกต่างจากเครื่องบริวารกฐินที่จะตกเป็นของวัดหรือสงฆ์รูปใดก็ได้ องค์กฐินประกอบไปด้วย 

  • ผ้าไตรจีวร 
  • บาตร 
  • ตาลปัตร
  • ย่าม
  • รองเท้า 

และอาจมีอื่น ๆ มากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้ถวายกฐิน 

เครื่องกฐิน หรือ บริวารกฐิน คือ สิ่งที่จะใช้ในงานกฐินทั้งหมด ได้แก่ องค์กฐิน บริวารกฐิน ธงกฐิน ธงราว ฉัตรเงินฉัตรทอง กระดาษเจ็ดสี วัตถุมงคลสำหรับแจกผู้มาร่วมบุญทอดกฐิน และอื่น ๆ 

คำถวายผ้ากฐิน

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

อิมัง มะยัง ภันเต สะปะริวารัง กะฐินะจีวะระทุสสัง 

สังฆัสสะ โอโณชยามะ สาธุ โน ภันเต 

สังโฆ อิมัง สะปะริวารัง กะฐินะทุสสัง ปะฏิคันคัณหาตุ ปะฏิคคะเหตตุวาจะ อิมินา ทุสเสนะ 

กะฐินัง อัตถะระตุ อัมหากัง ฑีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ นิพพานายะจะฯ 

คำถวายผ้ากฐิน (แปล) 

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารนี้แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์โปรดรับผ้ากฐินกับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย และเมื่อรับแล้วขอจงกรานใช้กฐินด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญฯ 

อานิสงส์บุญกฐิน 

อานิสงส์กฐิน 5 ประการสำหรับภิกษุผู้รับผ้ากฐิน 

ภิกษุผู้ที่ได้กรานกฐินจะได้รับอานิสงส์ 5 ประการ ดังนี้ 

  • เดินทางไปไหนได้โดยไม่ต้องบอกลา 
  • ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบ 3 ผืน 
  • สามารถฉันคณะโภชนะ คือ ฉันภัตตาหารร่วมโต๊ะหรือร่วมวงฉันด้วยกันได้ 
  • ทรงดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา คือ สามารถรับผ้าจีวรได้มากตามที่ต้องการ 
  • ภิกษุกรานกฐินจักได้จีวรที่เกิดขึ้น คือ หากได้ผ้าจีวรมาเพิ่มก็สามารถเก็บไว้ใช้ได้ โดยไม่ต้องนำเข้าส่วนกลาง 

อานิสงส์กฐินของฆราวาส 

  • ได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งเสริมสร้างความสามัคคีในระหว่างพุทธบริษัท 
  • ได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบอายุพุทธศาสนา ถือเป็นกุศลใหญ่ 
  • ได้สร้างทานบารมี สะสมบุญกุศลไว้ในภายภาคหน้า
  • สร้างทางไปสวรรค์และนิพพานให้กับตนเอง 
  • หากยังไม่ถึงพระนิพพาน จักได้ไปเกิดเป็นเทวดา นางฟ้า บนสวรรค์ และเมื่อบุญหย่อนลงมา จักไปเกิดเป็นจักรพรรดิ กษัตริย์ มหาเศรษฐี อนุเศรษฐี และ คหบดี ตามลำดับ 
  • จะได้เกิดในตระกูลที่ดี มีสัมมาทิฐิ มีเกียรติยศ และชื่อเสียงดีงาม
  • จะเกิดมามีทรัพย์สมบัติมาก มีโชคลาภ หาทรัพย์ได้ง่าย 
  • มีร่างกายและคุณลักษณะงดงาม สมส่วน 
  • มีร่างกายงดงาม ร่าเริง จิตใจแจ่มใสอยู่เสมอ